ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ดำเนินมาระยะหนึ่ง และมีผู้ติดเชื้อเกินสองล้านคน ทำให้มีกรณีศึกษาจำนวนมาก ทั้งประสบการณ์ การต่อสู้ทั้งของต่างประเทศ และทั้งของประเทศไทย การลองผิดลองถูก เพราะไม่เคยมีใครเจออภิมหาไวรัสแบบนี้มาก่อนในช่วงชีวิต จึงสามารถลำดับกระบวนการต่อสู้ของมนุษย์โลกกับไวรัสโควิด-19 ที่เรียนรู้กันมาต่อเนื่อง ดังนี้
1. รู้ว่า... โควิด-19 ติดต่อจากคน-สู่-คน ได้รวดเร็ว ทางการสัมผัส ใกล้ชิด จึงต้องสู้โดย "Social Distancing" ไม่ให้เจอกัน ไม่อยู่ใกล้กัน ปิดห้างร้านที่มีคนจอแจ ปิดที่ทำงาน ให้คนทำงานที่บ้าน "Work from Home" เมื่อคนไม่เจอคน ความเสี่ยงลด อัตราการติดเชื้อก็น่าจะลดลง
2. รู้ว่า... โควิด-19 เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทำลายปอด ยิ่งคนติดเชื้อมาก ป่วยมาก เครื่องมือดูแลช่วยชีวิต เช่น เครื่องช่วยหายใจในยามฉุกเฉิน หากคนป่วยมากเกินกำลัง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จึงต้องสู้โดย "ยกระดับศักยภาพทางการแพทย์" จึงมีนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจฉุกเฉินขนาดเล็ก ใช้ยามฉุกเฉิน เมื่อมีความจำเป็น โดยมันสมองคนไทย ที่คนไทยสนับสนุน เพื่อช่วยชีวิตคนไทย
3. รู้ว่า... บุคลากรทางการแพทย์ นักรบแนวหน้า เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง หากเป็นอะไรไป ประเทศไทยจะขาดกำลังพล และจะยิ่งยุ่งยาก จึงต้องสู้โดย "มีอุปกรณ์ป้องกันให้ครบ" ทั้งหน้ากากอนามัย ทั้งหน้ากาก N95 ทั้งชุดป้องกัน PPE หรือ Personel Protective Equipment ทุกคนต้องช่วยกันจัดหาสนับสนุน
4. รู้ว่า... ผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อย ไม่แสดงอาการป่วย หรือกว่าจะแสดงอาการ ก็ผ่านไปหลายวัน ยุ่งล่ะสิ เพราะไม่รู้ว่าเอาเชื้อไปติดใครบ้าง ไปทำงาน ก็แพร่ที่ทำงาน ยิ่งอยู่บ้าน ก็ติดคนในครอบครัว แบบนี้ Social Distancing หรือ Work from Home ก็ไม่ได้ผลกับกลุ่มนี้ ก็ต้องสู้โดย "การตรวจเชื้อ" ให้มากที่สุดในกลุ่มเสี่ยง แต่เดี๋ยวนี้ก็แทบไม่รู้แล้ว ว่าคือใครคือกลุ่มเสี่ยง? จึงต้องมีชุดตรวจออกมาให้มาก มีแล็บตรวจให้เยอะ จึงจะช่วยได้
5. รู้ว่า... การตรวจคนจำนวนมาก บุคลากรทางการแพทย์ ก็เสี่ยงมาก จึงต้องมีระบบป้องกันที่สมบูรณ์ ชุดปกติมันป้องกันไม่เพียงพอ ขาดแคลนด้วย จึงต้องสู้ โดยสร้าง "ห้องความดันบวก" ครอบคนตรวจ เชื้อไม่เข้ามา เวลาตรวจโรคในพื้นที่นอกอาคาร ที่โล่งแจ้ง คนตรวจปลอดภัย และสร้าง "ห้องความดันลบ" กรณีพื้นที่ปิดในโรงพยาบาล ครอบผู้มีความเสี่ยง กักเชื้อไม่ให้ออกมา แล้วทำลายเชื้อ คนตรวจปลอดภัย
6. รู้(แล้ว)ว่า.... ไวรัสโควิด-19 ไม่จบง่ายๆ ตราบใดที่ยังไม่มี "วัคซีน" และการทำวัคซีนที่ได้ผลจริงๆ อาจใช้เวลาเป็นสิบปีก็ได้ แม้จะลดขั้นตอน ช่วยกันทำงานแบบขนาน แบ่งงานกัน ไม่มีใครกั๊กความรู้ ไม่มีใครเห็นแก่ตัว ไม่เก็บไว้ทำคนเดียว ก็ยังต้องใช้เวลาดังนั้น ถือว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็น “เกมส์ยาว” ที่ไทยต้องเผชิญ ห้ามประมาท ห้ามเบื่อ ห้ามท้อ ห้ามเลิก ต้องช่วยกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากที่กล่าวมา ข้อ 1 ถึง 5 เราคนไทยช่วยกันทำแล้ว
โดย สจล. ได้จัดตั้งศูนย์รวมนวัตกรรมสู้โควิด-19 “KMITL GO FIGHT COVID-19” ศูนย์ที่ทำหน้าที่การศึกษา คิดค้น วิจัย และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อใช้ป้องกันการแพร่ระบาด และรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการประดิษฐ์เครื่องช่วยหายใจแบบฉุกเฉินขนาดเล็ก ในราคา 5,000 – 10,000 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการผลิตและส่งมอบให้กับโรงพยาบาล และหน่วยงานที่ต้องการ ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative Pressure Room) ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันบวก และแบบความดันลบ เป็นต้น
“เรามั่นใจว่าคนไทยจะชนะเกมส์ยาวนี้ ต้องอดทนสู้ แล้วเราจะรอดไปด้วยกัน” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับโรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่สนใจนวัตกรรมสู้โควิด-19 ภายใต้ศูนย์ “KMITL GO FIGHT COVID-19” สามารถติดต่อสอบถาม และรับคำแนะนำด้านการพัฒนานวัตกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ดำเนินงานโดยสำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) LINE ID: @825adigj โทร. 080-986-1242, 085-382-0960 หรือ 091-812-0416 หรืออีเมล kannika.li@kmitl.ac.th
ตู้ตรวจเชื้อ SWAB TEST ของ สจล. 2 เวอร์ชัน ประเดิมส่งมอบแก่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นตัวช่วยของแพทย์ให้คัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 อย่างปลอดภัย
Copyright © 2020 JC&CO | All Rights Reserved